Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

กฐิน ตามพุทธวจน คืออย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วีดีโอ1

รายการชีวิตไม่สิ้นหวัง: ย้อนรอยกฐินครั้งพุทธกาล 1

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

 ดาวน์โหลด : วิดีโอ

 

วิดีโอ2

รายการชีวิตไม่สิ้นหวัง: ย้อนรอยกฐินครั้งพุทธกาล 2

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

 ดาวน์โหลด : วิดีโอ

 

วิดีโอ3

สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์ 2 เม.ย. 54

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

 ดาวน์โหลด : วิดีโอ 

เสียง1

คอร์สปฏิบัติธรรม นครนายก 12 พ.ย. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

 ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่ 

 

 พระสูตรที่เกี่ยวข้อง   

 

สิกขาบทที่ ๑๐ เรื่องพระนันทะ

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระนันทะโอรสพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ทรงโฉม เป็นที่ต้องตาต้องใจ ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค ๔ องคุลี ท่านทรงจีวรเท่าจีวรพระสุคต ภิกษุเถระได้เห็นท่านพระนันทะมาแต่ไกล ครั้นแล้วลุกจากอาสนะสำคัญว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา ท่านพระนันทะเข้ามาใกล้จึงจำได้ แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระนันทะจึงได้ทรงจีวรเท่าจีวรของพระสุคตเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระนันทะว่า

ดูกรนันทะ ข่าวว่า เธอทรงจีวรเท่าจีวรสุคต จริงหรือ?

ท่านพระนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า

ดูกรนันทะ ไฉนเธอจึงได้ทรงจีวรเท่าจีวรของสุคตเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวร หรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคตในคำนั้น โดยยาว ๙ คืบ โดยกว้าง ๖ คืบ ด้วยคืบสุคต นี้ ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคต.

(ภาษาไทย) มหาวิ. วิ. ๒/๖๓๘/๗๗๖ : คลิกดูพระสูตร 

 

กาลทานสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑ ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑ ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล.

ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขิณาทานจึงจะมีผล ไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้น ย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนา หรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ เพราะฉะนั้นผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทาน ในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๖/๓๖ : คลิกดูพระสูตร 

 

สัปปุริสทานสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ! สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการอย่างไรเล่า? คือ :-

. ย่อมให้ทานด้วยศรัทธา

. ย่อมให้ทานโดยเคารพ

. ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร

. เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน

. ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและไม่กระทบผู้อื่น

ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษ

(). ครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก และเป็นผู้มีรูปสวยงาม น่าดูน่าเลื่อมใสประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นให้ผล.

() ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก และเป็นผู้มีบุตรภรรยา ทาส คนใช้หรือคนงานเป็นผู้เชื่อฟัง เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นให้ผล.

() ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ ในที่ที่ทานนั้นให้ผล.

() ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น ในที่ที่ทานนั้นให้ผล.

() ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและไม่กระทบผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคทรัพย์มาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นให้ผล.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลสัปปุริสทาน ๕ ประการ.

พุทธวจน แก้กรรม หน้า ๗๕

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๕๕/๑๔๘ : คลิกดูพระสูตร 

 

ผลจากการวางจิตเมื่อให้ทาน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ? อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยมีความหวังผล ให้ทานโดยมีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้ เขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ ... เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ให้ทานโดยไม่มีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยไม่มุ่งการสั่งสม (บุญ) ให้ทานโดยไม่คิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลของทานนี้แต่เขาให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดีเขาจึงให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดีแต่ให้ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่ายามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ... ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก แจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ เขาให้ทาน คือ ข้าว นํ้า ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่านิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว นํ้า ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว นํ้า ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้.

สารีบุตร ! นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

ภพภูมิ หน้า ๒๔๘

(ภาษาไทย) สตฺตก. อํ. ๒๓/๕๔/๔๙. : คลิกดูพระสูตร 

 

คุณสมบัติพระโสดาบัน (นัยที่ ๒)

ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

ธรรม ๔ ประการนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :- อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

() ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า

() ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม

() ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์

() มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะ อันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน.

ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ แล ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

คู่มือโสดาบัน หน้า ๒๑๕

มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๕๒/๑๔๕๑. : คลิกดูพระสูตร 

 

ผู้ประสบบุญใหญ่

ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ด้วยฐานะ ๕ อย่าง.

ฐานะ ๕ อย่าง อะไรบ้างเล่า ? ๕ อย่าง คือ :-

() ในสมัยใด จิตของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใส เพราะได้เห็นนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์.

() ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย พากันต้อนรับกราบไหว้ ให้อาสนะแก่นักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง.

() ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย กำจัดมลทิน คือความตระหนี่เสียได้ในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้เกียรติศักดิ์อันใหญ่.

() ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมแจกจ่ายทานตามสติ ตามกำลังในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคทรัพย์ใหญ่.

() ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไต่ถาม สอบสวน ย่อมฟังธรรมในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่.

ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด, มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมากด้วยฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้ แล.

ปฐมธรรม หน้า ๑๕๔

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๑๖/๑๙๙ : คลิกดูพระสูตร  

 

พระพุทธานุญาตน้ำย้อมเป็นต้น

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายย้อมจีวรด้วยโคมัยบ้าง ด้วยดินแดงบ้าง จีวรมีสีคล้ำ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ อย่าง คือ

น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเง่า ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ ๑ น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ ๑.

...ฯลฯ...

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. /๑๕๘/๑๔ : คลิกดูพระสูตร  

 

กฐินขันธกะ

ภิกษุปาไฐยรัฐเดินทางเข้าเฝ้า

        สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี.

ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ เดินทางไป พระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษาไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษา ในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์ ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้น ออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลนมีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

   การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั่นเป็นพุทธประเพณี.

                             

พุทธประเพณี

        ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน

จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ?

       

         ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษาไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับ

อยู่ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้า ออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า.

พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน

        ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่ง กะภิกษุทั้งหลายว่า         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ

                ๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา

                ๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ

                ๓. ฉันคณะโภชน์ได้

                ๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

                ๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว.

วิธีกรานกฐิน

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน

        ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่ง ของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ

         ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ สงฆ์ให้ผ้ากฐินผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน การให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

         ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้.

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน อย่างนี้ไม่เป็นอันกราน.

                             

กฐินไม่เป็นอันกราน

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินไม่เป็นอันกราน คือ:-

                ๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงขีดรอย

                ๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า

                ๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า

                ๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า

                ๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า

                ๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บด้น

                ๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม

                ๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม

                ๙. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาต

                ๑๐. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงประกอบผ้าอนุวาตด้านหน้า

                ๑๑. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า

                ๑๒. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมเป็นสีหม่นเท่านั้น

                ๑๓. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา

                ๑๔. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา

                ๑๕. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา

                ๑๖. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน

                ๑๗. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์

                ๑๘. กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่มิได้ทำกัปปะพินทุ

                ๑๙. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าสังฆาฏิเสีย

                ๒๐. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอุดราสงค์เสีย

                ๒๑. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากผ้าอันตรวาสกเสีย                ๒๒. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว                              ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น

                ๒๓. กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากการกรานแห่งบุคคล

                ๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น                            แม้อย่างนี้กฐินก็เชื่อว่า ไม่เป็นอันกราน.               

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินไม่เป็นอันกราน.

กฐินเป็นอันกราน

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันกราน คือ:-

                ๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่

                ๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่

                ๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า

                ๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสุกุล

                ๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน

                ๖. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา

                ๗. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา

                ๘. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา

                ๙. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน

                ๑๐. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เป็นนิสสัคคีย์

                ๑๑. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว

                ๑๒. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าสังฆาฏิ

                ๑๓. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอุตราสงค์

                ๑๔. กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าอันตรวาสก

                ๑๕. กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว                               ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น

                ๑๖. กฐินเป็นอันกราน เพราะการแห่งบุคคล

                ๑๗. กฐินเป็นอันกราน ถ้าภิกษุอยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้                        กฐินก็ชื่อว่าเป็นอันกราน.

       

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล กฐินเป็นอันกราน.

                ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันเดาะ.

มาติกา ๘

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาติกาเพื่อเดาะกฐิน ๘ ข้อนี้ คือ:-

                ๑. กำหนดด้วยหลีกไป    

               ๒. กำหนดด้วยจีวรทำเสร็จ

                ๓. กำหนดด้วยตกลงใจ  

               ๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย

                ๕. กำหนดด้วยได้ยินข่าว  

               ๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง

                ๗. กำหนดด้วยล่วงเขต  

               ๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน.

อาทายสัตตกะ ที่ ๖

               ๑. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป ด้วยคิดว่าจักไม่กลับมา               การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยหลีกไป.

                ๒. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า                   จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับมาละ เธอให้ทำจีวร                   ผืนนั้นเสร็จ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ

                ๓. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า

                  จักไม่ให้จีวรผืนนี้ จักไม่กลับ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยตกลงใจ

                ๔. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป เธออยู่นอกสีมา เกิดความคิดอย่างนี้ว่า                   จักให้ทำจีวรผืนนี้ ณ ภายนอกสีมานี้แหละ จักไม่กลับ แล้วทำจีวรผืนนั้น                     จีวรของเธอ ที่กำลังทำอยู่นั้นได้เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น                   กำหนดด้วยผ้าเสียหาย

                ๕. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา                   ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ยินข่าวว่าในอาวาสนั้นกฐินเดาะ                   เสียแล้ว การเดาะกฐินของภิกษุนั้น กำหนดด้วยได้ยินข่าว

                ๖. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป ด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา                   ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วล่วงคราว                   กฐินเดาะ ณ ภายนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้นกำหนดด้วยล่วงเขต                ๗. ภิกษุได้กรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปด้วยคิดว่าจักกลับมา เธออยู่นอกสีมา                   ให้ทำจีวรผืนนั้น ครั้นทำจีวรเสร็จ คิดว่าจักกลับมา จักกลับมา แล้วกลับมาทัน                   กฐินเดาะการเดาะกฐินของภิกษุนั้น พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย.  

(ภาษาไทย) มหา. วิ. ๕/๑๐๘-๑๑๔/๙๕-๑๐๒. : คลิกดูพระสูตร
 

 

พระพุทธบัญชาให้แต่งจีวร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิรีชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไป ครั้นแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยมพูนคันนายาว ทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไปหรือไม่?

อา. เห็นตามพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?

อา. สามารถ พระพุทธเจ้าข้า.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า

ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่ออนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด.

(ภาษาไทย) มหา. วิ. ๕/๑๕๘/๑๔๗ : คลิกดูพระสูตร 

  

Today254
Yesterday684
This week3805
This month13823
Total2521128

Who Is Online

19
Online