Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

พระพุทธเจ้าทรงอธิบาย นิพพาน ว่าอย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ 1


บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ชมรมธรรมปรีดา ๑๔ พ.ค. ๒๕๕๕

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

 

วิดีโอ 2


บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

สนทนาธรรมค่ำเสาร์ ๓๑ มี.ค. ๒๕๕๕

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วิดีโอ 3


บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

 

 

 



 พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

      “สิ่ง” สิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง

         เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สุด

มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบนั้น มีอยู่;

ใน “สิ่ง” นั้นแหละ

ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้;

ใน “สิ่ง” นั้นแหละ

ความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่

ความงาม ความไม่งาม ไม่หยั่งลงได้;

ใน “สิ่ง” นั้นแหละ

นามรูป ย่อมดับสนิทไม่มีเศษเหลือ;

นามรูป ดับสนิท ใน “สิ่ง” นี้

เพราะการดับสนิทของวิญญาณ; ดังนี้แล.

 

ปฐมธรรม หน้า ๓๐๓

(บาลี) สี. ที. ๙/๒๘๓/๓๔๘-๓๕๐. : คลิกดูพระสูตร

(ไทย) สี. ที. ๙/๓๒๙/๓๔๘-๓๕๐. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุ ท. ! สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่า ?  สามอย่างคือ :

๑.  มีการเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ);

๒. มีการเสื่อมปรากฏ (วโย ปญฺญายติ) ;

๓.  เมื่อตั้งอยู่ ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

ภิกษุ ท. ! สามอย่างเหล่านี้แล  คือสังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.

ภิกษุ ท. ! อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม  ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่า ?  สามอย่างคือ :

๑. ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ) ;

              ๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ) ;

๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ

(น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

       ภิกษุ ท. ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.

 

ปฐมธรรม หน้า ๓๐๔-๓๐๕

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า  ๔๔๘

 (บาลี) ติก. อํ. ๒๐/๑๙๒/๔๘๖-๔๘๗. : คลิกดูพระสูตร

(ไทย) ติก. อํ. ๒๐/๑๔๔/๔๘๖-๔๘๗. : คลิกดูพระสูตร

 

          ภิกษุ ท. ! ธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ เป็นธรรมมีส่วนแห่งวิชชา(วิชฺชาภาคิย).

หกอย่าง อย่างไรเล่า ?  หกอย่างคือ อนิจจสัญญา (สัญญาว่าไม่เที่ยง)

อนิจเจทุกขสัญญา (สัญญาว่าทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง)

ทุกเขอนัตตสัญญา (สัญญาว่ามิใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์)

ปหานสัญญา (สัญญาในการละ)

วิราคสัญญา (สัญญาในความคลายกำหนัด)

นิโรธสัญญา (สัญญาในความดับ). 

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ธรรม ๖ อย่างเป็นธรรมมีส่วนแห่งวิชชา.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๖๘๐-๖๘๑.

(บาลี) ฉกฺก. อํ.  ๒๒/๓๗๓/๓๐๖.: คลิกดูพระสูตร

(ไทย) ฉกฺก. อํ.  ๒๒/๓๐๔/๓๐๖. : คลิกดูพระสูตร

 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณาสี.

ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน. ก็หากว่ารูปนี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตาม ความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่างได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา มิใช่ตัวตน. ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่เวทนามิใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน. ก็หากสัญญานี้จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่สัญญามิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน. ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณมิใช่ตัวตน ก็หากวิญญาณนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย. ก็เพราะเหตุที่วิญญาณมิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนาในวิญญาณว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง?

ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?

ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?

ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา?

ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ เวทนาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

 

ริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๒๔๐-๒๔๓

 (บาลี) ขนฺธ. สํ ๑๗/๘๒/๑๒๗-๑๒๙. : คลิกดูพระสูตร

(ไทย) ขนฺธ. สํ ๑๗/๖๔/๑๒๗-๑๒๙. : คลิกดูพระสูตร

 

 

อานนท์ ! ถ้าคนทั้งหลายจะพึงถามเธออย่างนี้ว่า “ท่านอานนท์ !  กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี   กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น จากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี ได้ถูกบัญญัติแล้ว จักถูกบัญญัติ และย่อมถูกบัญญัติอยู่ แก่ธรรมเหล่าไหนเล่า ?”  ดังนี้.  

อานนท์ ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว  จะตอบเขาว่าอย่างไร ?

 “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ถ้าคนทั้งหลายจะพึงถามข้าพระองค์เช่นนั้นแล้ว ข้าแต่พระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้ว่า  ‘ผู้มีอายุ !  รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเหล่าใด ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ; กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี  กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี ได้ถูกบัญญัติแล้วแก่หมู่แห่งธรรมเหล่านั้น.

ผู้มีอายุ ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เหล่าใดยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ; กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี จักถูกบัญญัติแก่หมู่แห่งธรรมเหล่านั้น, ผู้มีอายุ ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเหล่าใด เป็นสิ่งเกิดอยู่แล้ว ปรากฏอยู่แล้ว ; กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี ย่อมถูกบัญญัติอยู่ แก่หมู่แห่งธรรมเหล่านั้น.’ดังนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ เมื่อถูกถามอย่างนั้น จะพึงตอบแก่เขาอย่างนี้.”

ถูกแล้ว อานนท์ ! ถูกแล้ว อานนท์ ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ  เหล่าใด  ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ; กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี ได้ถูกบัญญัติแล้ว แก่หมู่แห่งธรรมเหล่านั้น.

อานนท์ ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเหล่าใด ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ; กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็น อย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี จักถูกบัญญัติแก่หมู่แห่งธรรมเหล่านั้น.

อานนท์ ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเหล่าใด เป็นสิ่งเกิดอยู่แล้ว ปรากฏอยู่แล้ว ; กฎแห่งความบังเกิดขึ้นก็ดี กฎแห่งความเสื่อมไปก็ดี กฎแห่งความเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้วก็ดี ย่อมถูกบัญญัติอยู่ แก่หมู่แห่งธรรมเหล่านั้น. 

อานนท์ ! เธอ เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว พึงตอบแก่เขาอย่างนี้เถิด.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๒๒๓-๒๒๔

 (บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๔๗-๕๐/๘๑-๘๒. : คลิกดูพระสูตร

 (ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๘-๓๙/๘๑-๘๒. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ชรามรณะมี เพราะปัจจัยคือชาติ” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ชรามรณะมี เพราะปัจจัยคือชาติ”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าชาติ จักไม่ได้มีแก่ใครๆ ในที่ไหนๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ เพื่อความเป็นเทพ แห่งหมู่เทพทั้งหลายก็ดี, เพื่อความเป็น คนธรรพ์ แห่งพวกคนธรรพ์ทั้งหลายก็ดี, เพื่อความเป็น ยักษ์ แห่งพวกยักษ์ทั้งหลายก็ดี,  เพื่อความเป็น ภูต แห่งพวกภูตทั้งหลายก็ดี,  เพื่อความเป็น มนุษย์ แห่งพวกมนุษย์ทั้งหลายก็ดี, เพื่อความเป็น สัตว์สี่เท้า แห่งพวกสัตว์สี่เท้าทั้งหลายก็ดี, เพื่อความเป็น สัตว์มีปีก แห่งพวกสัตว์มีปีกทั้งหลายก็ดี, เพื่อความเป็น สัตว์เลื้อยคลาน แห่งพวกสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายก็ดี, แล้วไซร้ ;

ดูก่อนอานนท์ ! ชาติก็จักไม่ได้มีแล้วแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ๆ เพื่อความเป็นอย่างนี้แล. เมื่อชาติไม่มี เพราะความดับไปแห่งชาติโดยประการทั้งปวงแล้ว;  ชรามรณะ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ (ปญฺญาเยถ) ไหมหนอ? 

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละ คือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของชรามรณะ ; นั้นคือ ชาติ.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ชาติมี เพราะปัจจัยคือภพ” ดังนี้,  เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยาย ดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ชาติมี เพราะปัจจัยคือภพ”:

ดูก่อนอานนท์ !  ถ้าหากว่าภพ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการกล่าวคือ กามภพ ก็ดี, รูปภพ ก็ดี, อรูปภพ ก็ดี, แล้วไซร้ ; เมื่อภพไม่มี เพราะความดับไปแห่งภพ โดยประการทั้งปวงแล้ว ; ชาติ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ !  เพราะเหตุนั้น  ในเรื่องนี้, นั่นแหละ คือเหตุ  นั่นแหละคือนิทาน  นั่นแหละคือสมุทัย  นั่นแหละคือปัจจัย ของชาติ ; นั้นคือ ภพ.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ภพมี เพราะปัจจัยคืออุปาทาน” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ภพมี เพราะปัจจัยคืออุปาทาน”:

ดูก่อนอานนท์ !  ถ้าหากว่าอุปาทาน จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ กามุปาทาน ก็ดี ทิฏฐุปาทาน ก็ดี สีลัพพัตตุปาทาน ก็ดี อัตตวาทุปาทาน ก็ดี, แล้วไซร้; เมื่ออุปาทานไม่มี เพราะความดับไปแห่งอุปาทาน โดยประการทั้งปวงแล้ว; ภพ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? 

(“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”) 

ดูก่อนอานนท์ !  เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือ นิทาน นั่นแหละคือสมุทัย  นั่นแหละคือปัจจัย ของภพ; นั้นคือ อุปาทาน.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “อุปาทานมี  เพราะปัจจัยคือตัณหา” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้ว่า “อุปาทานมี เพราะปัจจัยคือตัณหา”: 

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าตัณหา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ  กล่าวคือ  รูปตัณหา  สัททตัณหา  คันธตัณหา  รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา, แล้วไซร้;  เมื่อตัณหาไม่มี เพราะความดับไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวงแล้ว; อุปาทาน จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละ คือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของอุปาทาน; นั้นคือ ตัณหา.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ตัณหามี เพราะปัจจัยคือเวทนา” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “ตัณหามี เพราะปัจจัย คือเวทนา”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าเวทนา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ  กล่าวคือ  จักขุสัมผัสสชาเวทนา  โสตสัมผัสสชาเวทนา  ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา, แล้วไซร้; เมื่อเวทนาไม่มี เพราะความดับไปแห่งเวทนา โดยประการทั้งปวงแล้ว; ตัณหา จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของตัณหา; นั้นคือ เวทนา.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็ด้วยอาการดังนี้แล เป็นอันกล่าวได้ว่า

เพราะอาศัย เวทนา จึงมี ตัณหา;

เพราะอาศัยตัณหา จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา);

เพราะอาศัยการแสวงหา   จึงมี  การได้  (ลาโภ);

เพราะอาศัยการได้   จึงมี  ความปลงใจรัก  (วินิจฺฉโย);

เพราะอาศัยความปลงใจรัก  จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค);

เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ  จึงมี ความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ);

เพราะอาศัยความสยบมัวเมา   จึงมี  ความจับอกจับใจ  (ปริคฺคโห);

เพราะอาศัยความจับอกจับใจ  จึงมี ความตระหนี่ (มจฺฉริยํ);

เพราะอาศัยความตระหนี่   จึงมี  การหวงกั้น  (อารกฺโข);

เพราะอาศัยการหวงกั้น  จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น  (อารกฺขาธิกรณํ); (กล่าวคือ  การใช้อาวุธไม่มีคม  การใช้อาวุธมีคม  การทะเลาะ  การแก่งแย่ง  การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ทั้งหลาย): ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม ด้วยอาการอย่างนี้; (เป็นอันว่า) ข้อความเช่นนี้ เป็นข้อความที่เราได้กล่าวไว้แล้ว.

ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้กล่าวไว้แล้วว่า “ธรรมเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก (กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า ‘มึง ! มึง !’ การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จ ทั้งหลายเหล่านี้; ซึ่งเป็นเรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น) ย่อมเกิดขึ้นพร้อม เพราะอาศัย การหวงกั้น” ดังนี้ :

ดูก่อนอานนท์ !  ถ้าหากว่าการหวงกั้น จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด  โดยทุกอาการ แล้วไซร้;  เมื่อการหวงกั้นไม่มี  เพราะความดับไปแห่งการหวงกั้น โดยประการทั้งปวงแล้ว; ธรรมเป็นบาป อกุศลเป็นอเนก (กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการพูดเท็จทั้งหลาย)จะพึงเกิดขึ้นพร้อมได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมเป็นบาปอกุศลเป็นอเนกเหล่านี้ (กล่าวคือ  การใช้อาวุธไม่มีคม  การใช้อาวุธมีคม  การทะเลาะ  การแก่งแย่ง  การวิวาท การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการกล่าวเท็จ; นั้น) คือการหวงกั้น.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการหวงกั้น” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยความตระหนี่  จึงมีการหวงกั้น”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าความตระหนี่ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้, เมื่อความตระหนี่ไม่มี เพราะความดับไปแห่งความตระหนี่ โดยประการทั้งปวงแล้ว; การหวงกั้น จะมีขึ้นมา ให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) 

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของการหวงกั้น; นั้นคือ ความตระหนี่.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความจับอกจับใจ จึงมีความตระหนี่” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.  ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยความจับอกจับใจ จึงมีความตระหนี่”: 

ดูก่อนอานนท์ !  ถ้าหากว่าความจับอกจับใจจักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้; เมื่อความจับอกจับใจไม่มี เพราะความดับไปแห่งความจับอกจับใจ โดยประการทั้งปวงแล้ว; ความตระหนี่จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) 

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย  นั่นแหละคือปัจจัย ของความตระหนี่; นั้นคือ  ความจับอกจับใจ.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมีความจับอกจับใจ” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.  ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมีความจับอกจับใจ”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหาก ความสยบมัวเมา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้; เมื่อความสยบมัวเมาไม่มี เพราะความดับไปแห่งความสยบมัวเมา โดยประการทั้งปวงแล้ว; ความจับอกจับใจ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความจับอกจับใจ; นั้นคือ ความสยบมัวเมา.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจจึงมีความสยบมัวเมา”  ดังนี้,  เช่นนี้แล  เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าความกำหนัดด้วยความพอใจ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้; เมื่อความกำหนัดด้วยความพอใจไม่มี เพราะความดับไปแห่งความกำหนัดด้วยความพอใจ โดยประการทั้งปวงแล้ว; ความสยบมัวเมา จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความสยบมัวเมา; นั้นคือ ความกำหนัดด้วยความพอใจ.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมีความกำหนัดด้วยความพอใจ” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.  ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมีความกำหนัดด้วยความพอใจ”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าความปลงใจรักจักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการแล้วไซร้; เมื่อความปลงใจรักไม่มี เพราะความดับไปแห่งความปลงใจรัก โดยประการทั้งปวงแล้ว; ความกำหนัดด้วยความพอใจ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) 

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นและคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความกำหนัดด้วยความพอใจ; นั้นคือ ความปลงใจรัก.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยการได้ จึงมีความปลงใจรัก” ดังนี้, เช่นนี้แลเป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.  ดูก่อนอานนท์ !  ความข้อนี้  เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยการได้ จึงมีความปลงใจรัก”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าการได้ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้ ; เมื่อการได้ไม่มี เพราะความดับไปแห่งการได้โดยประการทั้งปวงแล้ว ; ความปลงใจรัก  จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? 

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) 

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของความปลงใจรัก ; นั้นคือการได้.

 

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีการได้” ดังนี้, เช่นนี้แลเป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้  ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมีการได้”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าการแสวงหา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ แล้วไซร้; เมื่อการแสวงหาไม่มี เพราะความดับไปแห่งการแสวงหา โดยประการทั้งปวงแล้ว; การได้ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) 

ดูก่อนอานนท์ !  เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของการได้; นั้นคือ การแสวงหา.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เพราะอาศัยตัณหา จึงมีการแสวงหา” ดังนี้. เช่นนี้แลเป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “เพราะอาศัยตัณหา จึงมีการแสวงหา” :

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าตัณหา จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ กล่าวคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา, แล้วไซร้; เมื่อตัณหาไม่มี เพราะความดับไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวงแล้ว; การแสวงหา จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”) 

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น  ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน  นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย  ของการแสวงหา; นั้นคือ ตัณหา.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็ด้วยอาการดังนี้แล (เป็นอันกล่าวได้ว่า) ธรรมทั้งสองเหล่านี้รวมเป็นธรรมที่มีมูลอันเดียวกันในเวทนา; คือเวทนาอย่างเดียว ก็เป็นมูลสำหรับให้เกิดตัณหาแต่ละอย่าง ๆ ทั้งสองอย่างได้.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “เวทนามี เพราะปัจจัยคือผัสสะ” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า

“เวทนามี เพราะปัจจัยคือผัสสะ” :

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าผัสสะ จักไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในที่ไหน ๆ โดยทุกชนิด โดยทุกอาการ  กล่าวคือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส, แล้วไซร้; เมื่อผัสสะไม่มี เพราะความดับไปแห่งผัสสะ โดยประการทั้งปวงแล้ว; เวทนา จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ?

(ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของเวทนา; นั้นคือผัสสะ.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “ผัสสะมี เพราะปัจจัยคือนามรูป” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้  ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า

“ผัสสะมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”

ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่งหมู่แห่งนาม ย่อมมีได้โดยอาศัยอาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลาย เป็นหลัก, เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว การสัมผัสด้วยการเรียกชื่อ (อธิวจนสมฺผสฺโส) ในกรณีอันเกี่ยวกับรูปกาย จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? 

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”);

ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่งหมู่แห่งรูป ย่อมมีได้โดยอาศัยอาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก, เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว การสัมผัสด้วยการกระทบ (ปฏิฆสมฺผสฺโส) ในกรณีอันเกี่ยวกับนามกาย จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? 

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”);

ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่งหมู่แห่งนามด้วย ซึ่งหมู่แห่งรูปด้วย ย่อมมีได้โดยอาศัยอาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก, เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว การสัมผัสด้วยการเรียกชื่อ ก็ดี การสัมผัสด้วยการกระทบ ก็ดี  จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? 

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”);

ดูก่อนอานนท์ ! การบัญญัติซึ่งนามรูป ย่อมมีได้โดยอาศัยอาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ ทั้งหลายเป็นหลัก, เมื่ออาการ ลิงค์ นิมิต อุเทศ เหล่านั้น ไม่มีเสียแล้ว, ผัสสะ จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหมหนอ ? 

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”);

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละ คือนิทาน  นั่นแหละคือสมุทัย  นั่นแหละคือปัจจัย  ของผัสสะ; นั้นคือ นามรูป.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัยคือวิญญาณ” ดังนี้,  เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว. ดูก่อนอานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัยคือวิญญาณ”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณ จักไม่ก้าวลง ในท้องแห่งมารดาแล้วไซร้; นามรูปจักปรุงตัวขึ้นมาในท้องแห่งมารดาได้ไหม ? 

(ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”);

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้ว*  จักสลายลง เสียแล้วไซร้; นามรูป จักบังเกิดขึ้น เพื่อความเป็นอย่างนี้ได้ไหม ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”);

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณของเด็กอ่อน ที่เป็นชายก็ตาม  เป็นหญิงก็ตาม จักขาดลง เสียแล้วไซร้; นามรูป  จักถึงซึ่งความเจริญ  ความงอกงาม ความไพบูลย์บ้างหรือ ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”);

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของนามรูป; นั้นคือ วิญญาณ.

ดูก่อนอานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “วิญญาณมี  เพราะปัจจัยคือนามรูป” ดังนี้, เช่นนี้แล  เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.  ดูก่อนอานนท์ !  ความข้อนี้  เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”:

ดูก่อนอานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญาณ จักไม่ได้มีที่ตั้งที่อาศัยในนามรูป แล้วไซร้; ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ คือชาติชรามรณะต่อไป จะมีขึ้นมาให้เห็น ได้ไหม ?

(“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน  นั่นแหละคือสมุทัย  นั่นแหละคือปัจจัย  ของวิญญาณ; นั่นคือ นามรูป.

ดูก่อนอานนท์ ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้

สัตว์โลก จึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง จึงตายบ้าง จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง :

คลองแห่งการเรียก (อธิวจน) ก็มีเพียงเท่านี้,

คลองแห่งการพูดจา (นิรุตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,

คลองแห่งการบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,

เรื่องที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา (ปญฺญาวจร) ก็มีเพียงเท่านี้,

ความเวียนว่ายในวัฏฏะ ก็มีเพียงเท่านี้ :

นามรูปพร้อมทั้งวิญญาณตั้งอยู่ เพื่อการบัญญัติซึ่งความเป็นอย่างนี้

(ของนามรูปกับวิญญาณ  นั่นเอง).

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๗๗๙-๗๙๐

 (บาลี) มหา. ที. ๑๐/๖๗-๗๕/๕๘-๖๐. : คลิกดูพระสูตร

 (ไทย) มหา. ที. ๑๐/๕๑-๕๗/๕๘-๖๐. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
Today280
Yesterday568
This week2635
This month7666
Total2365660

Who Is Online

17
Online