Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

สัมมาอาชีวะของพระอริยะ คืออะไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ


บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี
สนทนาธรรม ค่ำเสาร์  13 ต.ค. 55

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 
 มหาจัตตารีสกสูตร

[๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน

อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถีสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เราจักแสดง สัมมาสมาธิของพระอริยะอันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย

พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

 

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

 

[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะอันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ

สัมมาทิฐิ

สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา

สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ

 

สัมมาสติ เป็นไฉน?

 ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งประกอบแล้วด้วย องค์ ๗ เหล่านี้แล

เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

 

[๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร? คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ

รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ 

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

 

[๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน?

คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล

สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผลผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี

โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีบิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี

สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ

ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มีนี้มิจฉาทิฐิ ฯ

 

[๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

 

[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน? คือ ความเห็นดังนี้ว่า

ทานที่ให้แล้ว มีผล

ยัญที่บูชาแล้ว มีผล

สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล

ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่

โลกนี้มี โลกหน้ามี

มารดามี บิดามี

สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี

สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ

ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่

นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

 

[๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็น

อนาสวะเป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค เป็นไฉน?

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาปัญญินทรีย์ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ความเห็นชอบ

องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้

พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล

สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค ฯ

 

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ

ความพยายามของเธอนั้นเป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะสัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมเป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ

 

[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุ

รู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ

รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

 

[๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาสังกัปปะเป็นไฉน คือ

ความดำริในกาม ดำริในพยาบาท ดำริในความเบียดเบียน นี้มิจฉาสังกัปปะ ฯ

 

[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว สัมมาสังกัปปะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑

สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

 

[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน? คือ

ความดำริในเนกขัมมะ

ดำริในความไม่พยาบาท

ดำริในความไม่เบียดเบียน

นี้สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

 

[๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะของพระอริยะ

ที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค เป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ความวิตกความดำริ ความแน่ว ความแน่ความปักใจ

วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึกมีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคเจริญอริยมรรคอยู่นี้แล

สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

 

 

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาสังกัปปะ เพื่อบรรลุสัมมาสังกัปปะ

ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะได้ มีสติบรรลุสัมมาสังกัปปะอยู่

สติ ของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ

ย่อมห้อมล้อมเป็นไปตามสัมมาสังกัปปะ ของภิกษุนั้นฯ

 

[๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร? คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา

รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจาความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

 

[๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาวาจาเป็นไฉน?

คือพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบเจรจาเพ้อเจ้อ นี้มิจฉาวาจา ฯ

 

[๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวสัมมาวาจาเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง๑

สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

 

[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน? คือ

เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ

งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

งดเว้นจากการพูดคำหยาบ

งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ

นี้สัมมาวาจา ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

 

[๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค เป็นไฉน?

*ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้นความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔

ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล

สัมมาวาจา ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

 

*ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจาอยู่

ความพยายามของเธอนั้นเป็นสัมมาวายามะ ฯ

 

*ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่

สติของเธอนั้นเป็นสัมมาสติ ฯ ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมเป็นไปตามสัมมาวาจาของภิกษุนั้น ฯ

 

[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานก็สัมมา ทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร? คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่า มิจฉากัมมันตะ

รู้จักสัมมากัมมันตะว่า สัมมากัมมันตะ

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

 

[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉากัมมันตะเป็นไฉน?

คือ ปณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร นี้ มิจฉากัมมันตะฯ

 

[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เรากล่าวสัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑

สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

 

[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน? คือ

เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต

งดเว้นจากอทินนาทาน

งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

 

[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็น อนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรคเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงดความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริตทั้ง ๓ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้

พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

 

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉากัมมันตะได้ มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติ ของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้นฯ

 

[๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร? คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่า มิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

 

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน คือ

การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง การยอมมอบตนในทางผิด

การเอาลาภต่อลาภนี้มิจฉาอาชีวะ ฯ

 

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ

*สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑

*สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ

 

[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน?

คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

 

[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค เป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้นเจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก

มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล

สัมมาอาชีวะของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความ พยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

 

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม

เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น ฯ

 

(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๔๕/๒๕๒-๒๕๕ : คลิกดูพระสูตร

 


 

 

 

 

 

 

 

 
Today445
Yesterday568
This week2800
This month7831
Total2365825

Who Is Online

7
Online