Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

ถ้ายังดูหนัง ฟังเพลง และไปงานปาร์ตี้อยู่ จะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้อย่างไร

 

วิดีโอ


บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่


พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

ยังมีพวกบริโภคกามโดยไม่จมกาม

ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณเหล่านี้มีห้าอย่าง. ห้าอย่างเป็นอย่างไรเล่า ? ห้าอย่างคือ รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงที่ฟังด้วยหู, กลิ่นที่ดมด้วยจมูก, รสที่ลิ้มด้วยลิ้น, และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยผิวกาย, อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ในกามคุณห้าอย่างเหล่านี้แล้ว ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ ทำการบริโภคกามคุณทั้งห้านั้นอยู่ ; ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า เป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับ แล้วแต่มารผู้มีบาปต้องการจะทำตามอำเภอใจอย่างใด ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบได้ดังเนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนจมอยู่ในกองบ่วง ในลักษณะที่ใคร ๆ พึงเข้าใจได้ว่า มันจะถึงซึ่งความพินาศย่อยยับ เป็นไปตามความประสงค์ของพรานทุกประการ, เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหนีไปไหนไม่พ้นเลย ดังนี้, ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมาหมกอยู่ ในกามคุณห้าเหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษอยู่ เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ บริโภคกามคุณทั้งห้านั้นอยู่ ; ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไปตามความประสงค์ของมารผู้มีบาปแต่อย่างใด ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วง แม้นอนจมอยู่บนกองบ่วง มันก็เป็นสัตว์ที่ใคร ๆ พึงเข้าใจได้ว่า เป็นสัตว์ที่ไม่ถึงความพินาศย่อยยับไปตามความประสงค์ของพรานแต่อย่างใด, เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหลีกหนีไปได้ตามที่ต้องการ ดังนี้, ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! (อีกอย่างหนึ่ง) เปรียบเหมือนเนื้อป่า เที่ยวไปในป่ากว้าง เดินอยู่ก็สง่างาม ยืนอยู่ก็สง่างาม หมอบอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม. เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่าเนื้อป่านั้นยังไม่มาสู่คลองแห่งจักษุของพราน, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน : สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงซึ่งปฐมฌาณ อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ที่มารผู้มีบาปมองไม่เห็น.

(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน - ตติยฌาน - จตุตถฌาน - อากาสานัญจายตนะ - วิญญาณัญจายตนะ -อากิญจัญญายตนะ - เนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยนัยเดียวกันกับการบรรลุปฐมฌาน เป็นลำดับไป, จนกระทั่งถึง สัญญาเวทยิตนิโรธโดยข้อความสืบต่อไปว่า :-)

ภิกษุทั้งหลาย ! ยิ่งไปกว่านั้นอีก : ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่. อนึ่ง เพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอก็สิ้นไปรอบ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น, ได้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาในโลก. ภิกษุนั้นยืนอยู่ก็สง่างาม เดินอยู่ก็สง่างาม นั่งอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม. เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นไม่ได้มาสู่คลองแห่งอำนาจของมารผู้มีบาป, ดังนี้แล.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๓๔

(ภาษาไทย) มู. . ๑๒/๒๓๑/๓๒๗-๓๒๘. : คลิกดูพระสูตร

 

 

คหบดี ! อริยสาวก เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย องค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่าไหนเล่า ?

(๑) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ว่า

เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยธรรมเป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ดังนี้.

(๒) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ว่า

พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิดเป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้.

(๓) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ ว่า

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ นั่นแหละ คือ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นสงฆ์ควรรับทักษิณาทาน เป็นสงฆ์ที่บุคคลทั่วไปจะพึงทำอัญชลี เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าดังนี้.

() คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีลทั้งหลายในลักษณะเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า : เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา วิญญูชนสรรเสริญไม่ถูกทิฏฐิลูบคลำ เป็นศีลที่เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ ดังนี้.คหบดี ! อริยสาวก เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยองค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่านี้แล

คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๓

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๗/๙๒. : คลิกดูพระสูตร

 

โสดาบัน กับศีลข้อ ๕ และสัมมาวาจา

พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! เราจักแสดงธรรมปริยายอันควรน้อมเข้ามาในตนแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังธรรมปริยายนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ธรรมปริยายที่ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นอย่างไรเล่า ?

() อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใด จะปลงเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงปลงผู้อื่นผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกขเสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไรอริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนั้นแล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

() พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย! อีกประการหนึ่งอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบของเรา อนึ่ง เราพึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากอทินนาทานด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากอทินนาทานด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากอทินนาทานด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

(๓) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงถึงความประพฤติ (ผิด) ในภริยาของผู้อื่นข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใดไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้น จากกาเมสุมิจฉาจารด้วย กายสมาจารของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

() พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นด้วยการ กล่าวเท็จ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่นธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากมุสาวาทด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากมุสาวาทด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากมุสาวาทด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

(๕) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงยุยงให้เราแตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงยุยงผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ แม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้เว้นจากปิสุณาวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากปิสุณาวาจาด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

(๖) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูดกะผู้อื่นด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใดไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากผรุสวาจาด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากผรุสวาจาด้วย วจีสมาจารของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

(๗) พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่งอริยสาวกย่อม พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูดกะผู้อื่นด้วยถ้อยคำเพ้อเจ้อ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นได้อย่างไร อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนเองย่อมงดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่อให้งดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นจากสัมผัปปลาปะด้วยวจีสมาจารของอริยสาวกนั้น ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้.

อริยสาวกนั้นประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์...ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้ารักใคร่แล้ว... เป็นไปเพื่อสมาธิ.

พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! เมื่อใด อริยสาวกประกอบด้วยสัทธธรรม ๗ ประการนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ ด้วยฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความหวัง ๔ ประการนี้ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดดิรัจฉาน วิสัยแห่งเปรต อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

 คู่มือโสดาบัน หน้า ๒๑๖

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๕๔/๑๔๕๙. : คลิกอ่านพระสูตร

 

 

 

 
Today1354
Yesterday1254
This week6159
This month16177
Total2523482

Who Is Online

66
Online