Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

พระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระธาตุ มีในพุทธวจนหรือไม่

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ 1

สนทนาธรรมช่วงหลังฉัน 14 ก.ย. 56

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4 , mp3

 

วิดีโอ 2

คอร์สปฏิบัติธรรมที่วัดนาป่าพง  26 พ.ย. 53

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4 , mp3

 

วิดีโอ 3

สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์  5 มี.ค. 54

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4 , mp3

 

 

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ปฏิจจสมุปบาทอาการหนึ่ง (นันทิให้เกิดทุกข์)

ถ้าเห็นแล้วทำให้หยุดความมั่นหมายในสิ่งทั้งปวง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ในโลกนี้

ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ

ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย

ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า

ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า,

ไม่เห็นสัปบุรุษทั้งหลาย

ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ

ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัปบุรุษ.

บุถุชน นั้น :-

() ย่อมรู้สึกซึ่ง ดิน โดยความเป็นดิน; ครั้นรู้สึกซึ่งดินโดยความเป็นดินแล้ว

ย่อมสำคัญมั่นหมาย ซึ่งดิน;

ย่อมสำคัญมั่นหมาย ในดิน;

ย่อมสำคัญมั่นหมาย โดยความเป็นดิน;

ย่อมสำคัญมั่นหมายว่า ดินของเรา;

ย่อมเพลินอย่างยิ่งซึ่งดิน.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเรากล่าวว่า

เพราะดินเป็นสิ่งที่ปุถุชนนั้น มิได้รู้โดยรอบแล้ว.

 

() ย่อมรู้สึกซึ่ง น้ำ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ปุถุชนนั้น มิได้รู้โดยรอบแล้ว.

() ย่อมรู้สึกซึ่ง ไฟ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ปุถุชนนั้น มิได้รู้โดยรอบแล้ว.

() ย่อมรู้สึกซึ่ง ลม ...ฯลฯ...ฯลฯ...ปุถุชนนั้น มิได้รู้โดยรอบแล้ว.

...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ส่วนว่า

ภิกษุใด ยังเป็นเสขะอยู่ มีความประสงค์แห่งใจ (อรหัตตผล) อันตนยังไม่บรรลุแล้ว ปรารถนาอยู่ซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า;

ภิกษุนั้น :-

() ย่อม จะรู้โดยยิ่งขึ้นไปซึ่งดิน โดยความเป็นดิน; ครั้นจะรู้โดยยิ่งขึ้นไปซึ่งดิน โดยความเป็นดินแล้ว

ย่อม จะไม่สำคัญมั่นหมายซึ่งดิน;

ย่อม จะไม่สำคัญมั่นหมายในดิน;

ย่อม จะไม่สำคัญมั่นหมายโดยความเป็นดิน;

ย่อม จะไม่สำคัญมั่นหมายว่าดินของเรา;

ย่อม จะไม่เพลินอย่างยิ่งซึ่งดิน.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเรากล่าวว่า

เพราะดินเป็นสิ่งที่พระเสขะนั้น จะพึงรู้ได้โดยรอบ

 

() ย่อมจะรู้โดยยิ่งขึ้นไปซึ่ง น้ำ ...ฯลฯ...พระเสขะนั้น จะพึงรู้ได้โดยรอบ.

() ย่อมจะรู้โดยยิ่งขึ้นไปซึ่ง ไฟ ...ฯลฯ...พระเสขะนั้น จะพึงรู้ได้โดยรอบ.

() ย่อมจะรู้โดยยิ่งขึ้นไปซึ่ง ลม ...ฯลฯ...พระเสขะนั้น จะพึงรู้ได้โดยรอบ.

...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ฝ่ายภิกษุใด

เป็นพระอรหันต์ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตน อันตามบรรลุถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ;

ภิกษุแม้นั้น :-

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่งดิน โดยความเป็นดิน; ครั้นรู้ชัดแจ้งซึ่งดิน โดยความเป็นดินแล้ว

ย่อมไม่สำคัญมั่นหมายซึ่งดิน;

ย่อมไม่สำคัญมั่นหมายในดิน;

ย่อมไม่สำคัญมั่นหมายโดยความเป็นดิน;

ย่อมไม่สำคัญมั่นหมายว่าดินของเรา;

ย่อมไม่เพลินอย่างยิ่งซึ่งดิน.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเรากล่าวว่า

เพราะดินเป็นสิ่งที่พระขีณาสพนั้น ได้รู้โดยรอบแล้ว; ...และเพราะว่า

ความเป็นผู้มีราคะไปปราศแล้ว ย่อมมีแก่พระขีณาสพนั้น เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ;

...ความเป็นผู้มีโทสะไปปราศแล้ว ย่อมมีแก่พระขีณาสพนั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโทสะ;

...ความเป็นผู้มีโมหะไปปราศแล้ว ย่อมมีแก่พระขีณาสพนั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ.

 

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่ง น้ำ ...ฯลฯ...ฯลฯ...เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ.

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่ง ไฟ ...ฯลฯ...ฯลฯ...เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ.

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่ง ลม ...ฯลฯ...ฯลฯ...เพราะความสิ้นไปแห่งโมหะ.

...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! แม้ ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก็ :-

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่งดิน โดยความเป็นดิน; ครั้งรู้ชัดแจ้งซึ่งดิน โดยความเป็นดินแล้ว

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมายในดิน;

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมายในดิน;

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมายโดยความเป็นดิน;

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมายว่าดินของเรา;

ย่อม ไม่เพลินอย่างยิ่งซึ่งดิน.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเรากล่าวว่า

เพราะดินนั้นเป็นสิ่งที่ตถาคตได้รู้โดยรอบแล้ว;

...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! และข้อนั้นเรากล่าวว่า

เพราะรู้แจ้ง (โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท ข้อนี้) ว่า นันทิ เป็นมูลแห่งความทุกข์;

เพราะมีภพ จึงมีชาติ; ชรามรณะ ย่อมมี แก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว; ดังนี้;

เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ตถาคตจึงชื่อว่าผู้ตรัสพร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งอนุตตรสัมมสัมโพธิญาณ

เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลาย,

เพราะความสำรอกไม่เหลือ,

เพราะความดับไม่เหลือ,

เพราะความสลัดทิ้ง,

เพราะความสลัดคืน

โดยประการทั้งปวง; ดังนี้.

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่งน้ำ ...ฯลฯ...ฯลฯ...สลัดคืน โดยประการทั้งปวง; ดังนี้.

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่งไฟ ...ฯลฯ...ฯลฯ...สลัดคืน โดยประการทั้งปวง; ดังนี้.

() ย่อมรู้ชัดแจ้งซึ่งลม ...ฯลฯ...ฯลฯ...สลัดคืน โดยประการทั้งปวง; ดังนี้.

...ฯลฯ

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๔๑๐ – ๔๒๑

(ภาษาไทย) ม.. ๑๒//. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า

อย่าเลย วักกลิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น.

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า

ดูกรวักกลิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ.

ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.

. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?

. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.

. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?

. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.

. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเอง โดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?

. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้.

. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร?

ดูกรวักกลิ ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม. วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.

(ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๑๖/๒๑๖. : คลิกดูพระสูตร

 

 

กู เป็นโค !

ภิกษุทั้งหลาย! ลาที่เดินตามฝูงโคไปข้างหลัง ๆ แม้จะร้องอยู่ว่า กู ก็เป็นโค, กู ก็เป็นโค ดังนี้ก็ตามที, แต่สีของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่, เสียงของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่, เท้าของมันก็หาเป็นโคไปได้ไม่, มันก็ได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลัง ๆ ร้องเอาเองว่า กู ก็เป็นโค, กู ก็เป็นโค ดังนี้ เท่านั้น. ข้อนี้ฉันใด ;

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุบางรูปในกรณีเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ; คือแม้จะเดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลัง ๆ ร้องประกาศอยู่ว่า ข้า ก็เป็นภิกษุ, ข้า ก็เป็นภิกษุ ดังนี้ก็ตามที, แต่

ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย,

ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย,

ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเธอ ไม่เหมือนของภิกษุทั้งหลาย,

ภิกษุรูปนั้น ได้แต่เดินตามหมู่ภิกษุไปข้างหลัง ๆ ร้องประกาศเอาเองว่า ข้า ก็เป็นภิกษุ, ข้า ก็เป็นภิกษุ ดังนี้เท่านั้น.

ภิกษุทั้งหลาย! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า

ความใคร่ในการประพฤติสีลสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ,

ความใคร่ในการประพฤติจิตตสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอ,

ความใคร่ในการประพฤติปัญญาสิกขาของเรา ต้องเข้มงวดเสมอดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๑๒๕ – ๑๒๖

(ภาษาไทย) ติก. อํ. ๒๐/๒๑๘/๕๒๒. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ฐานะที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (พระโสดาบัน)

นัยที่หนึ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ! ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้ ๖ ประการ เหล่านี้ มีอยู่.

หกประการ เหล่าไหนเล่า ? หกประการ คือ : -

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพยำเกรง ในพระศาสดา;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพยำเกรง ในพระธรรม;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพยำเกรง ในพระสงฆ์;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจอยู่อย่างไม่มีความเคารพยำเกรง ในสิกขา;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจมาสู่อนาคมนียวัตถุ (วัตถุที่ไม่ควรเข้าหา);

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจยังภพที่แปดให้เกิดขึ้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้ ๖ ประการ.

คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๑๒

(ภาษาไทย) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๒/๓๖๓. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ฐานะที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (พระโสดาบัน)

นัยที่สาม

ภิกษุทั้งหลาย ! ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้ ๖ ประการเหล่านี้ มีอยู่.

หกประการ เหล่าไหนเล่า ? หกประการ คือ : -

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจมาสู่ทิฏฐิ ว่า สุขและทุกข์ ตนทำเอง”;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจมาสู่ทิฏฐิ ว่า สุขและทุกข์ ผู้อื่นทำให้”;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจมาสู่ทิฏฐิ ว่า สุขและทุกข์ ตนทำเองก็มี ผู้อื่นทำให้ก็มี”;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจมาสู่ทิฏฐิ ว่า สุขและทุกขไม่ต้องทำเอง เกิดขึ้นได้ตามลำพัง”;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจมาสู่ทิฏฐิ ว่า สุขและทุกข์ ไม่ต้องใครอื่นทำให้ เกิดขึ้นได้ตามลำพัง”;

ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่อาจมาสู่ทิฏฐิ ว่า สุขและทุกข์ ไม่ต้องทำเองและไม่ต้องใครอื่นทำให้ เกิดขึ้นได้ตามลำพัง”.

ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า

เหตุ (แห่งสุขและทุกข์) อันผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เห็นแล้ว โดยแท้จริง และธรรมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่เกิดมาแต่เหตุด้วย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้ ๖ ประการ.

คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๑๖

(ภาษาไทย) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๙๓/๓๖๖. : คลิกดูพระสูตร

 

 

การบรรลุจตุตถฌานพร้อมทั้งอุปมา

มหาราช ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, จึง บรรลุฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. เธอนั้น นั่งแผ่ไปตลอดกาลนี้ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.

มหาราช ! เปรียบเหมือน ชายคนหนึ่ง นั่งคลุมตัวด้วยผ้าขาวตลอดศีรษะ, ส่วนไหน ๆ ในกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ผ้าขาวไม่ถูกต้องแล้ว (คือไม่คลุมแล้ว) มิได้มี. ข้อนี้เป็นฉันใด;

มหาราช ! ภิกษุนั่งแผ่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใสไปตลอดกายนี้, ส่วนใดส่วนหนึ่งในกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๑๓๐๗

(ภาษาไทย) สี.ที. /๗๑/๑๓๐. : คลิกดูพระสูตร

 

 

กายนี้ เป็น กรรมเก่า

ภิกษุทั้งหลาย ! กายนี้ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย และทั้งไม่ใช่ของบุคคลเหล่าอื่น.

ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมเก่า (กาย) นี้ อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น (อภิสงฺขต),เป็นสิ่งที่ปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น (อภิสญฺเจตยิต),เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้ (เวทนีย).

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีของกายนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดีซึ่ง ปฏิจจสมุปบาท นั่นเทียว ดังนี้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ :เพราะสิ่งนี้มี, สิ่งนี้จึงมี;

เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้, สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;

เพราะสิ่งนี้ไม่มี, สิ่งนี้จึงไม่มี;

เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้, สิ่งนี้จึงดับไป :

ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ

เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย;

เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;

เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป;

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;

เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;

เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;

เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;

เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;

เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;

เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ

ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :

ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี

ด้วยอาการอย่างนี้.

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้น นั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร, เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; ... ฯลฯ ...

ฯลฯ ... ฯลฯ ... เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล ชรามรณะ

โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น :

ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ดังนี้ แล.

พุทธวจนฉบับ แก้กรรม ? หน้า ๒๔

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๖๒/๑๔๓. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ผัคคุณสูตร

         ก็สมัยนั้น ท่านพระผัคคุณะอาพาธ มีทุกข์เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะอาพาธมีทุกข์เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะเถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล แล้วจะลุกจากเตียง

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระผัคคุณะว่า

อย่าเลยผัคคุณะ เธออย่าลุกขึ้นจากเตียง อาสนะเหล่านี้ที่ผู้อื่นได้ปูไว้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น

พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูไว้แล้ว ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระผัคคุณะว่า

ดูกรผัคคุณะ เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาย่อมบรรเทาไม่กำเริบ หรือปรากฏว่าบรรเทาไม่กำเริบขึ้นหรือ

ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบนั้น ไม่บรรเทาเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คมฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง พึงเอาเชือกที่เหนียวแน่นพันศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวดที่ศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่ง ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ เปรียบเหมือนบุรุษฆ่าโค หรือลูกมือของบุรุษฆ่าโค เป็นคนขยันพึงใช้มีดสำหรับชำแหละโคที่คม ชำแหละท้องโค ฉันใด ลมกล้ามีประมาณยิ่งย่อมเสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ...เปรียบบุรุษผู้มีกำลังสองคน จับบุรุษผู้อ่อนกำลังคนเดียวที่แขนคนละข้าง แล้วพึงลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉันใด ความเร่าร้อนที่กายของข้าพระองค์ก็ประมาณยิ่งฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้นไม่บรรเทาเลย

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถาให้ท่านพระผัคคุณะเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละ และในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะนั้น ผ่องใสยิ่งนัก ฯ

         ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะผ่องใสยิ่งนัก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรอานนท์ ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้อย่างไร จิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ จิตของผัคคุณภิกษุนั้น ก็หลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น

ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน

ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง อันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ    

อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

        อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ฯ    

ดูกรอานนท์ จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

        อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต แต่เธอย่อมได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

        อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต และย่อมไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ในการใคร่ครวญเนื้อความโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้แล ฯ

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๔๓/๓๒๗ : คลิกดูพระสูตร

 

 

Today171
Yesterday583
This week3109
This month8140
Total2366134

Who Is Online

10
Online