ทำไม สังขารก่อให้เกิดวิญญาณ และวิญญาณก่อให้เกิดนามรูป
เสียง
ยุวพุทธิกสมาคม ครั้งที่ 2 track 11
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี
ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ใน อาหารคือคำข้าว ก็ดี ใน อาหารคือผัสสะก็ดี ใน อาหารคือมโนสัญเจตนา ก็ดี ใน อาหารคือวิญญาณ ก็ดี แล้วไซร้, วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในสิ่งนั้นๆ. วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด, การก้าวลงแห่งนามรูปย่อมไม่มีในที่นั้น; การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด,ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น; ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด, การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น; การบังเกิดในภพใหม่ต่อไปไม่มีในที่ใด, ชาติชราและมรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น; ชาติชราและมรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด, ภิกษุทั้งหลาย !เราเรียก “ที่” นั้นว่าเป็น “ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้น” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเรือนยอดหรือศาลาเรือนยอด ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือหรือใต้ก็ตาม เป็นเรือนมีหน้าต่างทางทิศตะวันออก. ครั้นดวงอาทิตย์ขึ้นมา แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่างแล้วจักตั้งอยู่ที่ส่วนไหนแห่งเรือนนั้นเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์จักปรากฏที่ฝาเรือนข้างในด้านทิศตะวันตก พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าฝาเรือนทางทิศตะวันตกไม่มีเล่า แสงแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏอยู่ที่ไหน ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้นจักปรากฏที่พื้นดิน พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าพื้นดินไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหน ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้นจักปรากฏในน้ำพระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหนอีก ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏแล้ว พระเจ้าข้า !”. ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้นแล : ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหารคือคำข้าวก็ดี ในอาหารคือผัสสะก็ดี ในอาหารคือมโนสัญเจตนาก็ดี ในอาหารคือวิญญาณก็ดี แล้วไซร้, วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในอาหารคือคำข้าวเป็นต้นนั้นๆ. วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด,การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น; การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น; ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด,การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น; การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด, ชาติชราและมรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น;ชาติชรามรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด, ภิกษุทั้งหลาย !เราเรียก “ที่” นั้น ว่าเป็น “ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้น” ดังนี้. ฉบับ ๓ ก้าวย่างอย่างพุทธะ ๑๑๓ (ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๑๒๔-๑๒๖/๒๔๘-๒๔๙. : คลิกดูพระสูตร
ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ! ถ้าอย่างนั้น ผมจักกระทำ อุปมาให้ท่านฟัง. วิญญูชนทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตได้ แม้ด้วยอุปมา. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ! เปรียบเหมือนไม้อ้อสองกำจะพึงตั้งอยู่ได้ก็เพราะอาศัย ซึ่งกันและกัน, ข้อนี้ฉันใด, ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กล่าวคือ เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ; เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป; เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา; เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ; เพราะมี ตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ; เพราะมีภพเป็น ปัจจัย จึงมีชาติ; เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุ ปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ! ไม้อ้อสองกำนั้น ถ้าบุคคลดึงเอาออกเสียกำหนึ่งไซร้ อีกกำหนึ่งก็พึงล้มไป, ถ้าบุคคลดึงเอากำอื่นอีกออกไปไซร้ กำอื่นอีกก็พึงล้มไป, ข้อนี้ฉันใด; ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น เหมือนกัน คือ เพราะความดับแห่ง นามรูป จึงมีความดับแห่งวิญญาณ; เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับ แห่งนามรูป; เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ; เพราะมี ความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ; เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมี ความดับแห่งเวทนา; เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา เพราะมี ความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมี ความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาติ นั้นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น : ความดับ ลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้”. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๕๒๐ (ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๑๑๐/๒๖๖ : คลิกดูพระสูตร