Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

จะทำอย่างไรจึงจะละ นิวรณ์ ๕ ได้

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

เสียง


แสดงธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่


 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

 

ภิกษุ ท. ! นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง  

มีอยู่.  ห้าอย่าง อย่างไรเล่า ? ห้าอย่าง คือ  :

 

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท  ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ  ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ  ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา   ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง.

 

       ภิกษุ ท. ! ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว

จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน  หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ

ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้  นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. 

 

               ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่าง ๆ ไปได้

มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสกลางแม่น้ำนั้น

ก็ซัดส่ายไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกลไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆไปได้,  นี้ฉันใด; 

  

ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : 

ภิกษุ  ที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว

จะรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือ

จักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์

ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

     

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๓๕๗-๑๓๕๘

  (บาลี) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑. : คลิกดูพระสูตร

(ไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๖/๕๑. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน

มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงู มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง,

จับจระเข้...จับนก...จับสุนัขบ้าน...จับสุนัขจิ้งจอก...จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ

แล้วผูกรวมเข้าด้วยกัน เป็นปมเดียวในท่ามกลาง ปล่อยแล้ว.

 

ภิกษุทั้งหลาย !ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นทั้งหกชนิด มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน

ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ :

งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน,

สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า. ครั้นเหนื่อยล้ากันทั้งหกสัตว์แล้ว

สัตว์ใดมีกำลังกว่า สัตว์นอกนั้นก็ต้องถูกลากติดตามไป ตามอำนาจของสัตว์นั้น ข้อนี้ฉันใด

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใดไม่อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว

ตา ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ

รูป ที่ไม่น่าพอใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

หู ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง

เสียง ที่ไม่น่าฟังก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

จมูก ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม

กลิ่น ที่ไม่น่าสูดดมก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

ลิ้น ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ

รส ที่ไม่ชอบใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

กาย ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยงและ

ใจ  ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

  

 อินทรียสังวร หน้า ๖๕-๖๙

(บาลี) สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๖,๒๔๘/๓๔๘,๓๕๐. : คลิกดูพระสูตร

(ไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๒๑๓/๓๔๘,๓๕๐. : คลิกดูพระสูตร

 

 

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ควรเป็นผู้อันเธอทั้งหลายพึงถามอย่างนี้ว่า

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน?

สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน เป็นกาลเพื่อเจริญโพชฌงค์เหล่าไหน?

 

พวกอัญญเดียร์ถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักแก้ไม่ได้เลยและจักถึงความอึดอัดอย่างยิ่ง

ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเป็นปัญหาที่ถามในฐานะมิใช่วิสัย

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่แลเห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์

พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่จะยังจิตให้ยินดีด้วยการแก้ปัญหาเหล่านี้

เว้นเสียจากตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากตถาคต หรือจากสาวกของตถาคตนั้น.

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่ กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

มิใช่ กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

 

เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ

และโรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?

 

ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.

 

พ. ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่

สมัยนั้นมิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น.

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น

เป็นกาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์

เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง

โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่าและไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น

บุรุษนั้นสามารถจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ?

 

ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น

มิใช่กาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

มิใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์

มิใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้งเอาปากเป่า และ

ไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟกองใหญ่ได้หรือหนอ?

 

ภิ. ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า.

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น

เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์

เป็นกาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ

และโรยฝุ่นลงในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟกองใหญ่นั้นได้หรือหนอ?

 

ภิ. ได้ พระเจ้าข้า.

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว สติแลว่า มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง.

 

(ไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๓๘/๕๖๘.  : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๕๔/๕๖๘ : คลิกดูพระสูตร

 

 

ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้

 

เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้าเธอยังละไม่ได้แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้วได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงเอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวัน

อย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก

ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น

พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่าเราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ

 

ดูกรโมคคัลลานะเธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

(ไทย) สตฺตก. อํ. ๒๓/๗๓-๗๔/๕๘. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) สตฺตก. อํ. ๒๓/๗๒-๗๓/๕๘. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุ ท. ! อานิสงส์ในการเดิน ๕ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่.

 

ห้าอย่าง อย่างไรเล่า ? ห้าอย่าง  คือ

เป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑,

เป็นผู้อดทนต่อการกระทำความเพียร ๑,

เป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑,

สิ่งที่กินแล้ว  ดื่มแล้ว  ลิ้มแล้ว ย่อมถึงการย่อยด้วยดี ๑,

สมาธิที่ได้ในขณะแห่งการเดิน   ย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑.

 

ภิกษุ ท. ! อานิสงส์ในการเดิน ห้าอย่างเหล่านี้ แล.

(ไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๖/๒๙. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๑/๒๙. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้

จิตน้อมไปเพื่อการนอน ;

เธอก็นอนด้วยการตั้งใจว่า

บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส

จักไม่ไหลไปตามเราผู้นอนอยู่  ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้  :

 

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๑๙๐-๑๑๙๘

(บาลี) อุปริ. ม. ๑๔/๒๓๖-๒๔๐/๓๔๗-๓๕๐. : คลิกดูพระสูตร

(ไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๘๖-๑๙๐/๓๔๗-๓๕๐. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Today158
Yesterday583
This week3096
This month8127
Total2366121

Who Is Online

10
Online