มานะ ๖ และ นิวรณ์ ๕ คืออะไร
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่วิดีโอ
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุ ท. ! บุคคล ไม่ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.
ธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? หกอย่างคือ
มานะ (ถือตัว),
โอมานะ (แกล้งลดตัว),
อติมานะ (ยกตัว),
อธิมานะ (ถือตัวจัด),
ถัมภะ (หัวดื้อ),
อตินิปาตะ (สำคัญตัวเองว่าเลว).
ภิกษุ ท. ! บุคคลไม่ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่าง เหล่านี้แล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.
ภิกษุ ท. ! บุคคล ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.
ธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? หกอย่างคือ
มานะ โอมานะ อติมานะ อธิมานะ ถัมภะ อตินิปาตะ.
ภิกษุ ท. ! บุคคลละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่าง เหล่านี้แล้ว เป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล แล.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๗๖๙
(บาลี) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๗๙/๓๔๗. : คลิกดูพระสูตร
(ไทย) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๗๙/๓๔๗. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุ ท. ! นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลังมีอยู่.
ห้าอย่าง อย่างไรเล่า ? ห้าอย่าง คือ :
นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;
นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่าง ๆ ไปได้ มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสกลางแม่น้ำนั้นก็ซัดส่ายไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกลไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆไปได้, นี้ฉันใด;
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน :
ภิกษุ ที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จะรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๓๕๗-๑๓๕๘
(บาลี) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑. : คลิกดูพระสูตร
(ไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๖/๕๑. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! สังโยชน์ ๑๐ ประการ เหล่านี้ มีอยู่สิบประการอย่างไรเล่า ? สิบประการ คือ :-
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?คือ
สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามฉันทะ, พยาบาท
เหล่านี้ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.
อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจ, อวิชชา
เหล่านี้คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.
ภิกษุ ทั้งหลาย เหล่านี้แล สังโยชน์ ๑๐ ประการ.
คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๒๗
(บาลี) ทสก. อํ. ๒๔/๑๘/๑๓. : คลิกดูพระสูตร
(ไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๖/๑๓. : คลิกดูพระสูตร
อานนท์ ! อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา) ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ในกรณีนี้ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ–ไม่เป็นที่ชอบใจ–ทั้งเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะเห็นรูปด้วยตา.ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า
“อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง (สงฺขต) เป็นของหยาบๆ (โอฬาริก)
เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจ สมุปฺปนฺน);
แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต, กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้.
(เมื่อรู้ชัดอย่างนี้)
อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ–ไม่เป็นที่ชอบใจ-ทั้งเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป, อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ–ไม่เป็นที่ชอบใจ-ทั้งเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป เร็วเหมือนการกระพริบตาของคน, อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย
ในกรณีแห่ง รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ.
(ในกรณีแห่ง เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฎฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ทรงตรัสอย่างเดียวกันต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับแห่งอารมณ์นั้นๆ, คือ กรณีเสียง เปรียบด้วยความเร็วแห่งการดีดนิ้วมือ,กรณีกลิ่น เปรียบด้วยความเร็วแห่งหยดน้ำตกจากใบบัว, กรณีรส เปรียบด้วยความเร็วแห่งน้ำลายที่ถ่มจากปลายลิ้นของคนแข็งแรง, กรณีโผฏฐัพพะ เปรียบด้วยความเร็วแห่งการเหยียดแขนพับแขนของคนแข็งแรง, กรณีธรรมารมณ์ เปรียบด้วยความเร็วแห่งการแห้งของหยดน้ำบนกระทะเหล็กที่ร้อนแดงอยู่ตลอดวัน)
คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๒๗
(บาลี) อุปริ. ม. ๑๔/๕๔๒–๕๔๕/๘๕๖–๘๖๑. : คลิกดูพระสูตร
(ไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๔๐๙-๔๑๑/๘๕๖–๘๖๑. : คลิกดูพระสูตร