Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

"เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่; เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี; เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง; เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพาน เฉพาะตนนั่นเทียว." หมายความว่าอย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

 

วิดีโอ

สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์  12 ก.พ. 2554
 
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

 

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง.

สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์

สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

สิ่งใดเป็นอนัตตา  สิ่งนั้นนั้น  ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา :

เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริง  อย่างนี้  ด้วยประการดังนี้.

(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทุกประการ).

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !  เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้, 

ปุพพันตานุทิฏฐิทั้งหลาย  ย่อมไม่มี;

เมื่อปุพพันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี, อปรันตานุทิฏฐิทั้งหลาย ย่อมไม่มี;

เมื่ออปรันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี, ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี;

เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี, จิตย่อมจางคลายกำหนัด

ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ

ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย  เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น;

 

เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ ;

เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี;

เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง;

เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพาน เฉพาะตนนั่นเทียว.

เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว,

กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว, กิจอื่นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

 

ตามรอยธรรม หน้า ๔๕-๔๖

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๖๕๔-๖๕๕

 (ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๔๕/๙๓. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๖/๙๓. : คลิกดูพระสูตร  

  

ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมไม่กล่าวการประสบความพอใจในอรหัตตผล ด้วยการกระทำอันดับแรกเพียงอันดับเดียว.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แต่ว่า การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้เพราะการศึกษาโดยลำดับ

เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับ.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้เพราะการศึกษาโดยลำดับ

เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

 

ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษบุคคลในกรณีนี้ :

เป็นผู้มีศรัทธา เกิดขึ้นแล้ว ย่อม

เข้าไปหาผู้ถึงอริยสัจ(สัปบุรุษ);

เมื่อเข้าไปหา ย่อม เข้าไปนั่งใกล้;

เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ ย่อม เงี่ยโสตลงสดับ;

ผู้เงี่ยโสตลงสดับ ย่อม ได้ฟังธรรม;

ครั้นฟังแล้ว ย่อม ทรงจำธรรมไว้, ย่อม

ใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความแห่งธรรม ทั้งหลายที่ตนทรงจำไว้;

เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นอยู่,

ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการเพ่งพิสูจน์;

เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ (ความพอใจ) ย่อมเกิด;

ผู้เกิดฉันทะแล้ว ย่อม มีอุตสาหะ;

ครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อม พิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม

ครั้นพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรมแล้ว ย่อม ตั้งตนไว้ในธรรม นั้น;

 

ผู้มีตนส่งไปแล้วในธรรมนั้นอยู่ ย่อม กระทำให้แจ้ง ซึ่งบรมสัจจ์ด้วยนามกาย ด้วย,

ย่อม เห็นแจ้งแทงตลอด ซึ่งบรมสัจจ์นั้นด้วยปัญญา ด้วย.

ก้าวย่างอย่างพุทธะ หน้า ๓๙-๔๐

(ภาษาไทย) ม. ม. ๑๓/๑๘๑-๑๘๒/๒๓๘. : คลิกดูพระสูตร

 

(บาลี) ม. ม. ๑๓/๒๓๒-๒๓๓/๒๓๘. : คลิกดูพระสูตร  

  

ภิกษุ ท. ! ปีติ ที่ประกอบด้วยอามิส (สามิส) ก็มี

ปีติที่ไม่ประกอบด้วยอามิส (นิรามิส) ก็มี

ปีติไม่ประกอบด้วยอามิสที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส (นิรามิสตร) ก็มี.

 

ความสุข ที่ประกอบด้วยอามิส ก็มี ความสุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี

ความสุขไม่ประกอบด้วยอามิสที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี.

        อุเบกขา ที่ประกอบด้วยอามิส ก็มี อุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี        อุเบกขาไม่ประกอบด้วยอามิสที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี. 

วิโมกข์ ที่ประกอบด้วยอามิส ก็มี วิโมกข์ที่ไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี

วิโมกข์ไม่ประกอบด้วยอามิสที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส ก็มี.

 

ภิกษุ ท. ! ปีติที่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า?  

ภิกษุ ท. ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่, ห้าอย่างคือ

รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ....เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ ....กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ....

รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา .... โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย

อันเป็นสิ่งน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่

เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือกามคุณ ๕ อย่าง.

ภิกษุ ท. !  ปีติใดอาศัยกามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้เกิดขึ้น, ปีตินี้เรียกว่า ปีติประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. ! ปีติไม่ได้ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย

เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่; เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง

เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร

มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่.  

ภิกษุ ท. !  ปีตินี้เรียกว่า  ปีติไม่ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. !  ปีติไม่ประกอบด้วยอามิส ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิสเป็นอย่างไรเล่า ?  

ภิกษุ ท. !  เมื่อ ภิกษุขีณาสพ พิจารณาจิต ที่หลุดพ้นจากราคะ จิตที่หลุดพ้นจากโทสะ จิตที่หลุดพ้นจากโมหะอยู่ ;

ปีติใดเกิดขึ้น, ปีตินั้นเรียกว่า ปีติไม่ประกอบด้วยอามิส  ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. !  สุขที่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ?  

ภิกษุ ท. ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.   ห้าอย่าง คือ

รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ ....กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ .....

รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา .... โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย 

อันเป็นสิ่งน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่

เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือกามคุณ ๕ อย่าง.   

ภิกษุ ท. !  สุขโสมนัสใด  อาศัยกามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้เกิดขึ้น, สุขนี้เรียกว่า สุขประกอบ ด้วยอามิส.

         ภิกษุ ท. !  สุขที่ไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ?        ภิกษุ ท. !  ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย        เข้าถึง ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่; เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง         เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข         อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ ;   อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้ อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และ        ย่อมเสวยความ สุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า        “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้, เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่.

ภิกษุ ท. ! สุขนี้เรียกว่า สุขไม่ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท.!  สุขไม่ประกอบด้วยอามิส  ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิสเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! เมื่อ ภิกษุขีณาสพ พิจารณาจิต ที่พ้นแล้วจากราคะ จิตที่พ้นแล้วจากโทสะ จิตที่พ้นแล้วจากโมหะอยู่ ;  

สุขโสมนัสใดเกิดขึ้น, สุขโสมนัสนั้นเรียกว่า สุขไม่กอบด้วยอามิส  ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. ! อุเบกขาที่ประกอบด้วยอามิส  เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.   ห้าอย่าง คือ

รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ .... กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ....

รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา .... โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย  

อันเป็นสิ่งน่า ปรารถนา  น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่ 

เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด  :  เหล่านี้แล คือกามคุณ ๕ อย่าง.    

ภิกษุ ท. ! อุเบกขาใด อาศัยกามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้เกิดขึ้น,   อุเบกขานี้เรียกว่า อุเบกขาประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. ! อุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยอามิส  เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน,    

เข้าถึง จตุตถฌานไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.

ภิกษุ ท. ! อุเบกขานี้เรียกว่า   อุเบกขาไม่ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. ! อุเบกขาไม่ประกอบด้วยอามิส  ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. !  เมื่อ ภิกษุขีณาสพ  พิจารณาจิตที่พ้นแล้วจากราคะ  จิตที่พ้นแล้วจากโทสะ  จิตที่พ้นแล้วจากโมหะ อยู่ ;

อุเบกขาใดเกิดขึ้น, อุเบกขานั้นเรียกว่า อุเบกขาไม่ประกอบด้วยอามิส  ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. !  วิโมกข์ที่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ?  

วิโมกข์ที่ประกอบเนื่องอยู่ในรูป เรียกว่า วิโมกข์ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. ! วิโมกข์ที่ไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ?

วิโมกข์ที่ประกอบเนื่องอยู่ในอรูป เรียกว่า วิโมกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส.

 

ภิกษุ ท. !  วิโมกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส  ทิ่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. !  เมื่อภิกษุขีณาสพ  พิจารณาจิต ที่พ้นแล้วจากราคะ จิตที่พ้นแล้วจากโทสะ  จิตที่พ้นแล้วจากโมหะอยู่ ;

วิโมกข์ใดเกิดขึ้น, วิโมกข์นั้น เรียกว่า วิโมกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส  ที่ยิ่งกว่าไม่ประกอบด้วยอามิส แล.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๗๗๖-๗๗๙

(ภาษาไทย) สฬา.สํ. ๑๘/๒๔๘-๒๕๐/๔๔๖-๔๕๗. :คลิกดูพระสูตร

 

(บาลี) สฬา.สํ. ๑๘/๒๙๑-๒๙๓/๔๔๖-๔๕๗. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน

ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า

นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา

 

เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

 

ดูกรโลหิจจะ เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินต่างๆ บ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา

เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ

เมื่อจิตหลุดพ้น  ก็มีญาณว่าหลุดพ้น รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

 (ภาษาไทย) สี.ที. ๙/๓๐๔/๓๓๖. :คลิกดูพระสูตร

 

(บาลี) สี.ที. ๙/๒๗๐/๓๓๖. : คลิกดูพระสูตร  

 

                       ภิกษุทั้งหลาย ! อสังขตลักษณะแห่งอสังขตธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.

๓ อย่างอย่างไรเล่า ? ๓ อย่าง คือ :-

(๑) ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ)

(๒) ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ)

(๓) เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ)

ภิกษุทั้งหลาย ! ๓ อย่าง เหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะแห่งอสังขตธรรม. 

 

ภพภูมิหน้า ๔๖๘.

(ภาษาไทย) สี.ที. ๒๐/๑๔๔/๔๘๗. : คลิกดูพระสูตร

 

(บาลี) สี.ที. ๒๐/๑๙๒/๔๘๗. : คลิกดูพระสูตร 

 

        

Today77
Yesterday240
This week1448
This month6723
Total2354066

Who Is Online

10
Online